
Biovalys Code of Conduct 5th Edition
.
วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของบริษัท ไบโอวาลิส จำกัด
บริษัท ไบโอวาลิส จำกัด มุ่งเน้นในการประกอบธุรกิจ ตามแบบการบริหารจัดการทางจรรยาบรรณ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และความมั่นใจในการประกอบธุรกิจกับคู่ค้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการป้องกันการทุจริต ในทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการพัฒนาปรเทศให้เข้าสู่สากล
ขอบเขต
เกณฑ์จรรยาบรรณฉบับนี้ครอบคลุมการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรทางการแพทย์ และสถาบันทางการแพทย์ ตลอดจนการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตให้กระทำต่อสาธารณชนได้โดยตรง บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และ/หรือเกณฑ์จรรยาบรรณในประเทศ
1.) นิยาม
1.1 คำว่า “ส่งเสริมผลิตภัณฑ์” หมายถึง กิจกรรมที่จัดหรือสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสั่งใช้ ผ่านวิธีการสื่อสารต่างๆ รวมถึงอินเตอร์เน็ตด้วย
“การส่งเสริม” รวมถึง กิจกรรมของผู้แทนบริษัทและทุกแง่มุมของการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใดๆก็ตาม ตัวอย่างการส่งเสริมรวมถึง แต่ไม่จำกัดเฉพาะ การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ในทุกรูปแบบ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ การโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นิตยสาร/สื่อสิ่งพิมพ์และการส่งตรงทางไปรษณีย์ การร่วมในนิทรรศการ การใช้แถบบันทึกเสียง ภาพยนตร์ แผ่นเสียง สไลด์ แถบและการบันทึกภาพวิดีโอ การใช้อุปกรณ์บันทึกและฉายภาพทางโทรทัศน์หรือเครื่องฉายภาพอย่างอื่น ตลอดจนการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์
“การส่งเสริม” ไม่ครอบคลุมถึงการตอบข้อซักถามจากแพทย์เฉพาะรายหรือการให้คำตอบการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจง รวมถึงจดหมายที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์
1.2 “ผลิตภัณฑ์” หมายถึง วัคซีน หรือ ชีววัตถุใดๆ ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย บำบัด บรรเทารักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือที่มีผลต่อโครงสร้างหรือการทำงานใดๆ ของร่างกายมนุษย์ ที่นำมาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ และการโฆษณาต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ มิใช่กับสาธารณชนทั่วไป ทั้งนี้ ให้รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รวมบรรจุมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์
1.3 “บุคลากรทางการแพทย์” หมายถึง สมาชิกของวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม พยาบาล หรือบุคคลใดที่มีหน้าที่ตามสายอาชีพในการสั่งใช้ แนะนำ สั่งซื้อ จัดหา หรือ จัดการเภสัชภัณฑ์ และบุคลากรผู้ให้การพยาบาลอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยาปี พ.ศ. 2510, 2522 และ 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมภายหลัง
1.4 “ผู้แทนบริษัท” หมายถึง ตัวแทนของบริษัทที่มีหน้าที่ในการเข้าพบผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อเสนอข้อมูลและ/หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท
1.5 “เอกสารกำกับยา” หมายถึง เอกสารข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเภสัชภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และได้บรรจุหรือรวมไว้กับผลิตภัณฑ์ทุกหีบห่อ
1.6 “สถาบันทางการแพทย์” โดยปกติหมายถึง องค์กรที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ และ/หรือองค์กรที่ให้บริการดูแลหรือดำเนินการวิจัยด้านสุขภาพ
2.) หลักการ
2.1 การดูแลสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
2.2 การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียจะต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรม เหมาะสม และเป็นมืออาชีพโดยตลอด ไม่ควรมีการเสนอหรือจัดให้สิ่งใดโดยทางบริษัท ในลักษณะหรือโดยเงื่อนไขที่อาจสร้างอิทธิพลที่ไม่เหมาะสมขึ้นได้
2.3 บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ในประเทศ
2.4 บริษัทจะปฏิบัติตามมาตรฐานสูงด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพตามที่เจ้าหน้าที่ด้านกฎระเบียบของรัฐกำหนด ทั้งนี้ บริษัทจะต้องยึดถือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระเบียบปฏิบัติในประเทศ และหลักเกณฑ์ในอุตสาหกรรมในทุกกรณี และถือเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่จะต้องตรวจสอบข้อกำหนดต่าง ๆ ล่วงหน้าก่อนจัดเตรียมสื่อหรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย
2.5 ผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาส่งเสริมต่อบุคลากรทางการแพทย์ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยแล้วเท่านั้น ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์นั้น ข้อมูลที่ให้จะต้องเที่ยงตรง ไม่เอนเอียงไร้อคติ และถูกต้องตามหลักวิชา จะต้องอยู่ในมาตรฐานสูงและเหมาะสม ข้ออ้างต่างๆ จะต้องไม่เกินไปกว่าที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ และต้องพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้มีข้อความกำกวมและอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์นอกเหนือไปจากที่ปรากฏในฉลาก
2.6 ห้ามมิให้มีการจ่ายเงินบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการ มูลนิธิ หรือกองทุนอื่นในลักษณะเดียวกันของสถานพยาบาลของรัฐ หากมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการจัดซื้อจัดจ้างของสถานพยาบาลนั้นๆ
2.7 ข้อมูลที่ใช้ในสื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ยึดหลักฐานที่ได้ประเมินล่าสุดและถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยแล้ว
2.8 การจัดทำหรือสนับสนุนการวิจัยทางคลินิก และการวิจัยทางวิชาการของบริษัทจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ บริษัทยึดมั่นในความโปร่งใสของการวิจัยทางคลินิกที่ทางอุตสาหกรรมสนับสนุนต่อผู้ป่วย
2.9 จะต้องให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยเสมอ
2.10 เป็นภาระรับผิดชอบของบริษัท ที่จะต้องให้ความมั่นใจว่าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกคนได้รับการฝึกอบรมและมีความรู้ทางการแพทย์และด้านวิชาการเพียงพอที่จะเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างแม่นยำ ด้วยความรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณ พนักงานจะต้องนำรายงานต่อบริษัทถึงผลสะท้อนจากแพทย์หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการใช้ผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์
2.11 ยอมรับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องในราชอาณาจักรไทย ตลอดจนการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย
2.12 บริษัทต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากการที่มีการคุ้มครองสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์อย่างจำกัดในประเทศไทย ที่จะเป็นผลเสียต่อผู้ค้นพบ หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ ซึ่งยังถือว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวโดยชอบธรรมในประเทศต้นกำเนิดผลิตภัณฑ์
2.13 บริษัทควรจัดให้มีและดำรงไว้ซึ่งกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เหมาะสม และต้องติดตามตรวจสอบทุกกิจกรรมและสื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์โดยตลอด
2.14 การบริจาคให้สถาบันต่างๆ ต้องทำโดยจริงใจด้วยจุดหมายเพียงเพื่อสนับสนุนด้านมนุษยธรรมสถานเดียว และ/หรือเพื่อจุดมุ่งหมายที่ไม่ใช่เชิงวิชาการ และโดยไม่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจ
2.15 เกณฑ์จรรยาบรรณนี้ ใช้บังคับทั้งโดยเจตจำนงและโดยลายลักษณ์อักษร
3.) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์
3.1 การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ต้องไม่นำความเสื่อมเสียมาให้อุตสาหกรรมยา และควรพร้อมต่อการให้สาธารณชนตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
3.2 ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ที่จัดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ควรเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ถูกต้อง เที่ยงตรง ครบทุกด้าน และไม่สร้างความเข้าใจผิด ไม่ว่าโดยตรง โดยระบุเป็นนัย หรือโดยการตัดทอน หรือต่อเติมถ้อยคำ
3.3 ในการอ้างข้อความจากเอกสารทางการแพทย์หรือการสื่อสารจากผู้วิจัยทางคลินิก ควรใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นการบิดเบือนความหมายจากข้อความเดิมในฉบับเต็ม
3.4 ควรละเว้นการอ้างอิงในเชิงลบหลู่ผลิตภัณฑ์หรือผู้ผลิตอื่น
3.5 ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการพิจารณาความเหมาะสมในการนำข้อมูลหลักๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา ข้อห้ามใช้ อาการไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียง หรือความเป็นพิษมาสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย
3.6 เอกสารส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่จัดพิมพ์ขึ้นทั้งหมดจะต้องพิมพ์ข้อมูลดังต่อไปนี้:
- ชื่อสารออกฤทธิ์ หรือ ตัวยาสำคัญ โดยใช้ชื่อเรียกสากล หรือชื่อสามัญทางยาที่ได้รับอนุมัติแล้ว
- ชื่อการค้า
- ปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อขนาดรับประทาน หรือ ขนาดต่อหน่วยบรรจุ
- ชื่อของตัวยาอื่นที่เป็นที่ทราบทั่วไปว่าอาจมีผลเสียต่อผู้ใช้ยา
- ข้อบ่งใช้ในการบำบัดรักษาที่ได้รับอนุมัติแล้ว
- รูปแบบของยา และขนาดการใช้ต่อครั้ง
- ผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากการใช้ยา
- ข้อควรระวัง ข้อห้าม และคำเตือน
- ปฏิกิริยาร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างตัวยา (อันตรกริยา)
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย
- การอ้างเอกสารสิ่งพิมพ์วิชาการตามความเหมาะสม
- เลขที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยสำหรับเนื้อหาของเอกสารส่งเสริมผลิตภัณฑ์ เลขที่นี้จะพิมพ์ไว้ที่สื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น สื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้จะนำมาใช้ได้ภายในช่วงเวลาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
3.7 ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย กำหนดให้จัดพิมพ์ใบกำกับยาเป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยข้อความทั้งสองภาษาต้องตรงกัน นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น
3.8 ข้อมูลใดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้พิมพ์บนกล่องหรือฉลาก จะต้องจัดพิมพ์ให้อ่านได้ชัดเจน
3.9 นอกจากข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้ในเกณฑ์จรรยาบรรณฉบับนี้แล้ว มีระเบียบพิเศษสำหรับการจัดทำโฆษณาเพื่อตอกย้ำตราสินค้า (Reminder/Advertisement) ซึ่งให้ระบุเพียงชื่อการค้า ชื่อเรียกสากล INN (International Non-proprietary Name) ข้อบ่งใช้ในการบำบัดรักษา ประโยคที่ระบุว่า “ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้” (Further information available on request) ตราบริษัท (logo) และที่อยู่ในประเทศ
3.10 บริษัทมีกระบวนการที่แน่นอนสำหรับการรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาและการเรียกเก็บยาคืน โดยให้ผู้แทนบริษัทและพนักงานที่เหมาะสมทุกคนได้รับทราบนโยบายของบริษัทและขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าวทั้งหมด
3.11 หากมีการละเมิดเกณฑ์จรรยาบรรณในข้อใด หรือมีการประพฤติผิด หรือให้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องโดยพนักงานคนใดของบริษัท บริษัทจะต้องรับผิดชอบแก้ไขให้ถูกต้อง
3.12 การนำเสนอด้วยวาจา รวมถึงการนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยสิ่งพิมพ์จะต้องมุ่งความเที่ยงตรง ยุติธรรม สมดุล และเหมาะสม จะต้องไม่มีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้วยสรรพคุณที่ไม่ได้แสดงไว้ในฉลากกำกับยา
4.) สื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์
4.1 สื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์หมายถึงสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โสตทัศนูปกรณ์ สื่อดิจิตอล ฯลฯ
4.2 สื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510, 2522 และ 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมภายหลังโดยต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนเผยแพร่โฆษณาและใช้เพียงในช่วงเวลาที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น
4.3 ภาพและข้อความในสื่อจะต้องอยู่ในมาตรฐานเหมาะสม และโดยตระหนักรู้ในสถานะแห่งวิชาชีพของผู้รับซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์
4.4 สื่อดังกล่าวจะต้องไม่ลอกเลียนแบบอย่างของเครื่องมืออุปกรณ์ คัดลอกคำขวัญ อย่างที่บริษัทอื่นใช้ ในทางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสับสนได้
4.5 หากมีการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกในด้านความปลอดภัยในการใช้ยาอย่างมีนัยสำคัญ ควรระบุข้อเปลี่ยนแปลงไว้ในข้อมูลผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ทราบผลการเปลี่ยนแปลง และควรระบุในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทุกรูปแบบ
4.6 ข้อกำหนดสำหรับสื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีผลใช้กับการโฆษณาในวารสารสื่อสิ่งพิมพ์
5.) ปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรทางการแพทย์
5.1 งานนิทรรศการ
งานนิทรรศการมีความสำคัญต่อการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์แก่บุคลากร ทางการแพทย์ วัตถุประสงค์หลักในการจัดแสดงดังกล่าวจึงควรเป็นการเสริมความรู้ทางการแพทย์ การดูแลรับรองเป็นสิ่งควบคู่ไปกับการจัดประชุมวิชาการและการประชุมใหญ่ต่างๆ แต่ควรมีความสำคัญรองลงไปจากวัตถุประสงค์หลักของการประชุมเสมอ
- งานนิทรรศการจะต้องมุ่งเป้าที่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
- งานนิทรรศการจะต้องแสดงชื่อบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนไว้เด่นชัด
- ผู้แสดงสินค้าจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของหน่วยงานสนับสนุนใน การจัดงานนิทรรศการ
- ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งเสริมจะต้องจัดไว้ ณ จุดแสดงสินค้า
- ห้ามมิให้จัดการจับสลากรางวัลหรือเล่นเกมเสี่ยงโชคระหว่างการจัดงานนิทรรศการ
- บริษัทจะต้องไม่เสนอสิ่งจูงใจเป็นตัวเงิน เพื่อเชิญชวนให้บุคลากรทางการแพทย์แวะมาเยี่ยมคูหานิทรรศการของตน ทั้งนี้รวมถึงการแจกจ่ายเงินสด ตั๋วเงิน และ/หรือเงินบริจาคให้แก่ การกุศลหรือสมาคม
- การจัดแข่งขันที่เป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการจะต้องเกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์ หรือ การส่งเสริมการเพิ่มพูนความรู้ทางการแพทย์หรือวิชาการ ของรางวัลที่แจกต้องเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเภสัชกรรมและต้องมีมูลค่าไม่เกินชิ้นละ 500 บาทการสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการสั่งจ่ายยาหรือการแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ป่วย และต้องไม่มีการตั้งเงื่อนไข หรือทำให้เข้าใจในเชิงนั้น
- บริษัทไม่ควรจัดบริการเครื่องดื่มมึนเมาในบริเวณจัดงานนิทรรศการ
- การดำเนินกิจกรรมในระหว่างการจัดงานนิทรรศการ (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของแสง เสียง หรือกลิ่น ฯลฯ) ต้องไม่รบกวนผู้แสดงสินค้าอื่น และ/หรือ ผู้ร่วมการประชุม
5.2 การสนับสนุนงานประชุมวิชาการ
วัตถุประสงค์ทางวิชาการและทางการศึกษา
- จุดประสงค์และหัวใจของการประชุมทางวิชาการ การประชุมใหญ่ และการประชุมเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ การประชุมทางวิชาการ หรือการประชุมวิชาชีพ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์โดยมีบริษัทเป็นผู้จัดหรือสนับสนุนต้องเป็นไปเพื่อให้ข้อมูลวิชาการ และ/หรือแจ้งบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
- การสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้าร่วมงานประชุมควรเป็นไปตามเกณฑ์จรรยาบรรณ กฎหมายและระเบียบต่างๆ รวมถึง ระเบียบของโรงพยาบาล โดยยึดจาก ข้อที่เคร่งครัดกว่า
- การสนับสนุนอาจทำได้โดยตรงกับสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล โดยมีคำขอของสถาบันให้สนับสนุนกิจกรรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หากสามารถแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับการศึกษาทางวิชาการ ผลประโยชน์ของผู้ป่วย หรือมีส่วนช่วยการกุศลที่จะช่วยปรับปรุง บริการทางการแพทย์
- การสนับสนุนงานประชุมหรือสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมงานประชุมซึ่งจัดโดยบุคคลที่สาม เช่น องค์กรสุขภาพ หรือสมาคมแพทย์ ให้พิจารณาความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้
ก. กำหนดการของการประชุมวิชาการ
- กำหนดการของการประชุมวิชาการครอบคลุมช่วงเวลาทั้งหมดของงานประชุม โดยระบุหัวข้อการประชุมในแต่ละวันในช่วงเวลางาน
- เนื้อหาของการประชุมยึดตามหลักวิชาการและได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้ที่จะเข้าร่วมประชุม
ข. กิจกรรมบันเทิง กิจกรรมสันทนาการ และอาหาร
- ไม่ควรมีการจัดกิจกรรมบันเทิง เช่น ทัวร์เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว หรือกิจกรรมสันทนาการติดกับการประชุม ไม่ว่าจะก่อน ระหว่าง หรือหลังการประชุม และ ไม่มีการเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหารที่เกินความเหมาะสมหรือบ่อยครั้งเกินไประหว่างการประชุม
- ไม่จัดให้รับประทานอาหารในสถานที่ท่องเที่ยว หรือสถานที่เชิงวัฒนธรรม
- ไม่มีคำบรรยายในกำหนดการประชุมที่ให้ภาพลักษณ์ที่ดูฟุ้งเฟ้อ
- บริษัทที่ให้การอุปถัมภ์จะต้องดูแลว่ากิจกรรมบันเทิงและค่าเลี้ยงรับรองที่เพิ่มเข้ามาสำหรับแพทย์ที่ตนให้การอุปถัมภ์นั้น เป็นไปตามลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์นี้
- ผู้ติดตามต้องชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมใดๆ จากบริษัทที่ให้การสนับสนุน
- บุคลากรทางการแพทย์ทราบว่าจะต้องเข้าร่วมการประชุมแทนที่จะไปร่วมกิจกรรมกับผู้ติดตาม
5.3 งานประชุมที่ต้องเดินทาง
- บริษัทไม่จัดงานประชุมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในต่างประเทศ เว้นแต่ว่ามีเหตุผลทางด้านการเดินทางหรือความปลอดภัยที่เหมาะสม
- บริษัทอาจสนับสนุนงานประชุมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในต่างประเทศได้ หากพิสูจน์ได้ว่าการประชุมทางวิชาการและการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นการประชุมระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายประเทศ
- การสนับสนุนการเดินทางทุกประเภทของผู้เข้าร่วมประชุมควรเป็นชั้นประหยัด
- การสนับสนุนยานพาหนะสำหรับการเดินทางเป็นกลุ่มเพื่อไปและกลับจากสถานที่ประชุมนั้น สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสนับสนุนยานพาหนะที่จัดหาให้เฉพาะบุคคล
5.4 สถานที่จัดประชุมที่เหมาะสม
- การจัดงานประชุมต้องจัดในสถานที่ที่เหมาะสมและเอื้อต่อวัตถุประสงค์ทางวิชาการและ การให้ความรู้ ตรงจุดประสงค์ของงานประชุม บริษัทต้องหลีกเลี่ยงการใช้สถานที่ที่มีชื่อเสียงหรือฟุ้งเฟ้อ
- บริษัทต้องดูแลว่าการเลือกที่ตั้งของสถานที่จัดประชุมนั้นขึ้นกับความสะดวกสำหรับ ผู้ร่วมประชุมในแง่การเดินทาง (เดินทางเข้าถึงง่าย) ความปลอดภัย ค่าใช้จ่าย และพร้อมต่อการให้สาธารณชนตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ สิ่งดึงดูดผู้เข้าร่วมประชุมต้องอยู่ที่สาระของการประชุม มิใช่สถานที่ประชุม
- ต้องอยู่ในหรือใกล้กับเมืองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางทางวิชาการหรือธุรกิจ และผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมสามารถเดินทางไปได้สะดวก
- ต้องไม่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นสิ่งดึงดูดหลักของงาน
- เวลาการจัดประชุมควรหลีกเหลี่ยงไม่ให้ตรงกับงานกิจกรรมด้านกีฬาหรือวัฒนธรรมที่เป็น ที่รู้จัก และจัดขึ้นในสถานที่และเวลาเดียวกัน หรือหากเป็นไปได้ ไม่ควรเป็นช่วงก่อน-หลังการประชุม
- ต้องเหมาะสมในเชิงขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของงานประชุม
- เอื้อต่อวัตถุประสงค์ทางวิชาการและการให้ความรู้ของการประชุม
- ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อรองรับการจัดการประชุมและผู้เข้าประชุม
- ผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมเท่านั้นที่สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในการประชุมได้ และ สิ่งอำนวยความสะดวกนี้ควรลดเวลาเดินทางให้กับผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่
- ต้องไม่มีชื่อเสียงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความบันเทิง กีฬา กิจกรรมสันทนาการ หรือการพักผ่อน
- สถานที่จัดประชุมต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย
5.5 ข้อจำกัด
- การให้การอุปถัมภ์บุคลากรทางการแพทย์จะจำกัดเฉพาะค่าเดินทางที่ถูกต้องตามหลักการ ค่าลงทะเบียน ค่าอาหาร และค่าที่พักเท่านั้นและจำกัดเฉพาะช่วงเวลาและสถานที่ของ การจัดงาน
- บริษัทสามารถดูแลเรื่องการลงทะเบียนประชุม การจองที่พัก และประสานงานเกี่ยวกับ การประชุมให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ การเบิกค่าใช้จ่ายโดยใช้ใบเสร็จรับเงินอย่างเป็นทางการสามารถทำได้ แต่ไม่อนุญาตให้จ่ายเงินสดล่วงหน้าให้บุคลากรทางการแพทย์
- ต้องไม่มีการจ่ายเงินเป็นการชดเชยการเสียเวลาของบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้า ร่วมประชุม
- ในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์จะต้องไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องสั่งใช้ยา แนะนำ จัดซื้อ จัดหา บริหารจัดการ หรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดๆ
บริษัทสามารถสนับสนุนเครื่องดื่มและ/หรืออาหารระหว่างการประชุมได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
- เป็นการรับรองสำหรับผู้เข้าร่วมงานประชุมเท่านั้น และ
- เป็นการรับรองที่ไม่ฟุ้งเฟื้อและเหมาะสม แต่ต้องมีราคาไม่เกิน 2,500 บาท (ไม่รวม VAT และค่าบริการ) ต่อหัว ต่อมื้อ สำหรับมาตรฐานของท้องถิ่น หากมีการจัดประชุมในต่างประเทศ บริษัทต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศเจ้าภาพ ในกรณีที่ประเทศเจ้าภาพไม่ได้ตั้งมูลค่าสูงสุดไว้ บริษัทควรพิจารณาราคาที่เหมาะสมโดยอ้างอิงจากมาตรฐานของท้องถิ่น
5.6 รายการบันเทิง
- ห้ามไม่ให้บริษัทจัดหรือจ่ายเงินสำหรับรายการบันเทิง กิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมทางสังคมใดๆ
5.7 ผู้ติดตาม
- การเชิญผู้เข้าร่วมการประชุมทางการแพทย์และวิชาการต้องจำกัดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น บริษัทไม่ควรอำนวยความสะดวกหรือจ่ายเงินใดๆ ให้กับผู้ติดตามที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้เชิญ
5.8 ค่าตอบแทน
บุคลากรทางการแพทย์อาจได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษา วิทยากร และ/หรือเป็นประธานการประชุม ร่วมในการวิจัยทางการแพทย์/วิทยาศาสตร์ การวิจัยทางคลินิก หรือการจัดอบรม ร่วมในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา หรือร่วมในการวิจัยตลาด ซึ่งล้วนแต่มีการให้ค่าตอบแทน การจัดการเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและบริการดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- มีการตกลงทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มทำการใดๆ ต้องระบุลักษณะของบริการ ที่จะจัดให้และฐานการคิดค่าตอบแทนในบริการนั้นๆ
- มีการแจ้งอย่างชัดเจนเป็นเอกสารล่วงหน้าถึงความต้องการบริการที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
- หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ปรึกษาจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ และ ที่ปรึกษาจะต้องมีความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการให้บริการ
- จำนวนของที่ปรึกษาที่แต่งตั้งต้องไม่มากเกินกว่าจำนวนที่สมเหตุผลเพื่อให้บรรลุความต้องการที่ระบุไว้
- การจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้บริการที่เกี่ยวข้องต้องไม่เป็นการโน้มน้าวให้เกิดการสั่งใช้ยา การแนะนำ จัดซื้อ จัดหา และ/หรือ บริหารจัดการยาใดๆ
- การให้ค่าตอบแทนต่อบริการต้องสมเหตุผลและสะท้อนอัตราปกติที่เป็นธรรมสำหรับบริการที่ให้
6.) ของขวัญตามเทศกาล
การมอบของขวัญตามเทศกาลแก่บุคลากรทางการแพทย์สามารถกระทำได้ตามประเพณีและเทศกาลท้องถิ่น รวมถึง การให้หรีดสำหรับงานศพของบุคลากรทางการแพทย์และญาติสายตรงนั้นสามารถให้ได้ การจ่ายเงินสด เช็ค หรือทองคำ หรือของขวัญที่สามารถตีค่าเป็นเงินสด (เช่น เช็ค ของขวัญ) ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเป็นเรื่องต้องห้าม ของขวัญที่มอบให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพและหรือสถาบันการแพทย์ในโอกาสประเพณีและเทศกาลท้องถิ่น กระทำได้ในลักษณะ “ไม่บ่อยครั้ง” โดยของขวัญนั้นต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท ต่อการให้ในแต่ละโอกาส
7.) เครื่องมือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ (Promotional Aids)
- เครื่องมือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ (promotional aids หรือ giveaway) เป็นสิ่งของที่ไม่ใช่ตัวเงินที่ให้เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องเป็นของที่มีความเกี่ยวข้องกับงานของผู้รับที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และควรมีทั้งมูลค่าและปริมาณที่ต่ำ
- เครื่องมือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อย้ำตราสินค้า จะระบุเพียงชื่อการค้า และ/หรือ ตราสินค้า (logo) และ/หรือ ชื่อบริษัท โดยต้องไม่ระบุข้อความอ้างอิงสรรพคุณใด ๆ หรือคำขวัญที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ หรือข้อความส่งเสริมผลิตภัณฑ์อื่น
- เครื่องมือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ไม่ควรมีมูลค่าเกินกว่าชิ้นละ 500 บาท และถูกต้องตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- สิ่งของที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ (Medical Utilities) อาจหมายรวมถึงโปสเตอร์หลักการฉีดวัคซีนสำหรับใช้ในห้องตรวจ หรือตำราทางการแพทย์ เนื่องจากทั้งสองตัวอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกับประโยชน์ต่อผู้ป่วย ทั้งนี้ ตามกฎหมายและระเบียบในประเทศ บริษัทอาจเสนอให้หรือให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ได้หากว่ามูลค่าของสิ่งนั้นไม่เกิน 3,000 บาท (สามพันบาท)
- สิ่งของที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ไม่อาจทดแทนการปฏิบัติหน้าที่ปกติ แต่เป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมบริการทางการแพทย์หรือการดูแลผู้ป่วย
8.) ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ อาจจัดให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอำนาจสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์นั้นหรือให้กับหน่วยงานผ่านระบบการรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์
- ขนาดและปริมาณตัวอย่างควรเป็นปริมาณที่เหมาะสม
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สามารถใช้ในกรณี เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับรูปแบบและลักษณะของผลิตภัณฑ์ หรือเพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้ทางคลินิก
- จุดประสงค์ในการให้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไม่ควรเป็นการโน้มน้าวให้เกิดการสั่งจ่ายยาหรือ เพื่อประโยชน์ส่วนตน
- ห้ามมิให้จัดวางตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไว้ให้หยิบได้ ณ บริเวณจุดแสดงสินค้า ทั้งนี้ ควรมีผู้ดูแลอยู่ และมิให้แจกจ่ายให้กับบุคคลใดๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือบุคคลที่ไม่เหมาะสม
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จัดส่งโดยผู้จัดจำหน่าย หรือผู้แทนบริษัท ต้องบรรจุหีบห่อ อย่างรัดกุมปลอดภัย และลงทะเบียนตอบรับหรือลงชื่อรับ ณ ปลายทาง
- บทนี้ไม่ได้รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าที่ให้แก่หน่วยงานสำหรับการนำเสนอเพื่อเข้าบัญชีโรงพยาบาล
9.) การสนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ (Continuous Medical Education หรือ CME) การศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ได้รับข้อมูลที่ทันสมัย ถูกต้องมากที่สุดและเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบำบัดรักษาที่มีความสำคัญในการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยและการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการรักษาพยาบาลโดยรวม จุดประสงค์หลักของการประชุมวิชาการจะต้อง เป็นไปเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางการแพทย์ ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงิน จากบริษัทจึงถือว่าเหมาะสม เมื่อบริษัทเป็นผู้จัดเตรียมเนื้อหาในกิจกรรม และโปรแกรมการศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ เนื้อหาของสื่อดังกล่าวจะต้องมีความเที่ยงตรง เป็นกลางและตรงกับวัตถุประสงค์และได้มีการออกแบบให้สามารถแสดงถึงซึ่งทฤษฎีที่หลากหลายและรับฟังความคิดเห็น เนื้อหาต้องประกอบไปด้วยข้อมูลทางการแพทย์วิชาการและข้อมูล อื่น ๆ ที่จะมีส่วนส่งเสริมให้การดูแลผู้ป่วยดีขึ้น การสนับสนุนบริษัทจะเสนอหน่วยงานกลางของ โรงพยาบาล หรือ ภาควิชา หรือ แผนก เป็นต้น
10.) การวิจัยทางคลินิกและความโปร่งใส
10.1 ความโปร่งใส
บริษัทมีพันธะที่จะต้องทาให้เกิดความโปร่งใสในการทาการวิจัยทางคลินิกที่บริษัทเป็นผู้สนับสนุน ดังเป็นที่ยอมรับว่าสิ่งสำคัญอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสาธารณสุข คือ การเปิดเผยข้อมูลการวิจัยทางคลินิกต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ป่วย และบุคคลอื่น ๆ อย่างไรก็ดีการเปิดเผยดังกล่าวจะต้องคงไว้ซึ่งการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิตามสัญญารวมถึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย และแนวปฏิบัติของประเทศในเรื่องกฎหมายสิทธิบัตรการเปิดเผยข้อมูลการวิจัยทางคลินิกของบริษัทจะต้องเป็นไปตามจุดยืนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลการวิจัยทางคลินิกผ่านทะเบียนและฐานข้อมูลการวิจัยทางคลินิก (พ.ศ. 2552 ซึ่งมีการแก้ไขเล็กน้อยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560) และจุดยืนร่วมในการตีพิมพ์ผลการวิจัยทางคลินิกในวารสารทางวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2553 ซึ่งมีการแก้ไขเล็กน้อยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560) ซึ่งออกโดย สหพันธ์ผู้ผลิตและสมาคมเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) สมาพันธ์สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ของยุโรป (EFPIA) สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ของญี่ปุ่น (JPMA) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ของอเมริกา (PhRMA)
10.2 ความแตกต่างจากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์
การวิจัยในมนุษย์ต้องมีวัตถุประสงค์ทางวิชาการที่ถูกต้องตามกฎหมายการวิจัยในมนุษย์ รวมถึงการวิจัยทางคลินิกและการศึกษาแบบสังเกตการณ์ (observational study) ซึ่งต้องไม่เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์แบบแอบแฝง
10.3 การศึกษาเภสัชภัณฑ์หลังจากวางตลาด การเฝ้าระวังการใช้เภสัชภัณฑ์ภายหลังการวางตลาดและการเผยแพร่ข้อมูล
10.3.1 การทำวิจัยทางคลินิกหลังการวางตลาดของยาที่ได้รับอนุมัติมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างความมั่นใจในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
10.3.2 การทำวิจัยผลิตภัณฑ์ภายหลังจากการวางตลาดและการติดตามผลการใช้ผลิตภัณฑ์ภายหลังจากการวางตลาด ต้องไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยมีเจตนาแอบแฝงในการทำเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์
10.3.3 ควรรายงานข้อมูลที่มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับอันตรายร้ายแรงจากการใช้ยาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในประเทศและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทราบเป็นอันดับแรก และจะต้องเผยแพร่ข่าวสารไปยังต่างประเทศโดยด่วนในทันทีที่ทำได้
11.) การวิจัยตลาด
จุดประสงค์เพียงอย่างเดียวของกิจกรรมนี้คือต้องเป็นการเก็บข้อมูล และไม่นำไปใช้เป็นวิธีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือให้สิ่งตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์
11.1 วิธีการที่ใช้ในการวิจัยตลาดต้องไม่เป็นการสร้างความเสื่อมเสียหรือลดความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ ข้อกาหนดต่อไปนี้ใช้บังคับทั้งการวิจัยที่ดาเนินการโดยบริษัทโดยตรง และโดยองค์กรที่ทำในนามบริษัท
11.2 การวิจัยตลาด ไม่ว่าในกรณีใด จะต้องไม่นำมาใช้ในลักษณะแอบแฝงเพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย และการวิจัยนั้นจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะครอบงำความคิดเห็นของผู้ให้ข้อมูล การออกแบบสำรวจจะต้องกระทำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นกลาง และต้องไม่เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์
11.3 ต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ให้ข้อมูลเป็นความลับ เว้นแต่จะมีการตกลงให้เปิดเผยได้ แต่โดยไม่ควรนึงถึงการมีอยู่ของความตกลงดังกล่าว ข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มานั้น (ซึ่งแตกต่างจากผลการวิจัยโดยรวมทั้งหมด) จะต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต่อผู้ให้ข้อมูล
11.4 ควรใช้ความระมัดระวังมิให้ผู้ให้ข้อมูลได้รับความเสียหายจากการให้สัมภาษณ์หรือจากการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย
12.) ปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย องค์กรผู้ป่วย
12.1 องค์กรผู้ป่วย
12.1.1 การมีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ กับองค์กรผู้ป่วยต้องอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม และบริษัทต้องเคารพในความเป็นอิสระขององค์กรผู้ป่วย
12.1.2 การยืนยันความเกี่ยวข้อง บริษัทต้องทำให้มั่นใจว่าความเกี่ยวข้องของบริษัทในการทำงานกับองค์กรผู้ป่วยนั้นมีความโปร่งใสตั้งแต่ต้นบริษัทจะต้องไม่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรผู้ป่วย หรือโครงการหลักใด ๆ ขององค์กรผู้ป่วย แต่เพียงผู้เดียว
12.1.3 การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร บริษัทที่ให้การสนับสนุนทางการเงินหรือการให้สิ่งของใด ๆ แก่องค์กรผู้ป่วยจะต้องจัดทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุลักษณะของการสนับสนุน รวมถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรม และการสนับสนุนทางการเงิน
12.1.4 การจัดประชุม
บริษัทอาจให้การสนับสนุนทางการเงินในการจัดประชุมขององค์กรผู้ป่วยได้หากวัตถุประสงค์หลักของการประชุมนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางวิชาชีพ เป็นการให้ความรู้และเกี่ยวข้องกับวิชาการ หรือเป็นการสนับสนุนภารกิจขององค์กรผู้ป่วย ในการจัดประชุมให้องค์กรผู้ป่วย บริษัทจะต้องดูแลสถานที่และตำแหน่งที่ตั้งการประชุมนั้นให้มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการประชุม นอกจากนั้น อาหารหรือเครื่องดื่มที่จัดให้ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อเมื่อพิจารณาตามมาตรฐานของท้องถิ่น
12.2 การให้ความรู้แก่ผู้ป่วย
ประชาชนควรสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสภาพทางการแพทย์และการรักษาของแพทย์ แต่ข้อมูลดังกล่าวควรเป็นข้อมูลในเชิงให้ความรู้และกระตุ้นผู้ป่วยให้หารือกับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ควรยึดหลักดังต่อไปนี้
12.2.1 ข้อมูลความรู้ทางวิชาการต้องทันสมัย เที่ยงตรง ถูกต้องและเป็นกลาง
12.2.2 ข้อมูลความรู้ทางวิชาการไม่ควรมุ่งที่เภสัชภัณฑ์ตัวใดโดยเฉพาะ เว้นแต่เป็นเอกสารที่บุคลากรทางการแพทย์มีเจตนาที่จะมอบให้แก่ผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งใช้ผลิตภัณฑ์นั้น
12.2.3 ข้อมูลความรู้ทางวิชาการอาจรวมถึงรายละเอียดของประเภทของการบำบัดรักษา สภาพทางการแพทย์และการหารือที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรทางคลินิก (clinical parameter) โดยทั่วไป
12.2.4 ข้อมูลความรู้ทางวิชาการควรมีข้อความแนะนาว่า “กรุณาปรึกษาแพทย์ของท่าน” พร้อมระบุที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้จัดทำข้อมูล
12.2.5 ข้อมูลความรู้ทางวิชาการต้องมีข้อความชี้แนะให้ผู้ป่วยขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาจากแพทย์ของตน ข้อความดังกล่าวจะต้องไม่ส่อไปในทางส่งเสริมให้ผู้ป่วยร้องขอแพทย์ให้ออกใบสั่งใช้ยาสาหรับผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
12.2.6 การเสนอข่าวสารต้องไม่เป็นลักษณะที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกหรือเข้าใจผิดแก่สาธารณชนโดยไม่จำเป็น
12.2.7 การนำเสนอข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือสื่อสารประเภทอื่น ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมดุลในทุกกรณีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความคาดหวัง ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง
12.3 เอกสารเพื่อผู้ป่วย
เอกสารเพื่อผู้ป่วยเป็นเอกสารที่มุ่งให้ข้อมูลภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการสั่งใช้ยาแล้ว จึงอาจเป็นข้อมูลเฉพาะของเภสัชภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง โดยที่เอกสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และไม่มีมูลค่าในตัวเอง เอกสารประเภทนี้ต้องมีเนื้อหาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตนได้ถูกต้อง เช่น อธิบายวิธีการใช้ยา ข้อควรระวังข้อแนะนำเฉพาะ หรือข้อมูลอื่น ๆ ลักษณะเดียวกัน แต่จะต้องไม่มีการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นหรือกล่าวอ้างสรรพคุณใด ๆ เอกสารข้อมูลและความรู้ที่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์สำหรับการใช้งานของผู้ป่วยนั้น อาจมีชื่อบริษัทได้ แต่ต้องไม่มีตราสินค้าผลิตภัณฑ์ เว้นแต่ว่าชื่อผลิตภัณฑ์มีความจำเป็นสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องของผู้ป่วย
12.4 กิจกรรมสนับสนุนผู้ป่วย
กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ควรมีวัตถุประสงค์ในการทดแทนการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแต่ควรจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมบริการทางการแพทย์หรือการดูแลผู้ป่วย บริษัทจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ในการเข้าร่วมกิจกรรมสนับสนุนผู้ป่วย
- การจ่ายผลตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเหมาะสมกับลักษณะของงาน
- ต้องไม่มอบสิ่งจูงใจใด ๆ นอกเหนือไปจากสื่อวัสดุที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและการปฏิบัติตนที่ดีขึ้น ให้แก่ผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรม
- กิจกรรมดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ข้อมูลและข่าวสารที่จัดให้แก่ผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามข้อ 2 และ 12.3
- บรรดาข้อมูลที่ได้รับจากกิจกรรมจะต้องไม่มีการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และต้องไม่นำไปใช้กับกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์โดยเด็ดขาด
- ระยะเวลาของกิจกรรมมีความเหมาะสมกับสภาพของโรคที่รักษาด้วยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
13.) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ที่ไม่อยู่ในวงการแพทย์ หรือ บุคคลทั่วไป
ห้ามส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์กับบุคคลทั่วไป เว้นแต่กฎหมายจะอนุญาต ทั้งนี้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ให้ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเป็นกลาง เป็นความจริง และไม่สร้างความเข้าใจผิดหรือชักจูงให้เกิดความคาดหวังเกินจริงจากผลิตภัณฑ์ เมื่อบริษัทจำเป็นต้องสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อตอบข้อสงสัย สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคภัย หรือให้ความรู้ ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุดในเรื่องความถูกต้อง และสนับสนุนบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์
13.1 การตอบคำถามทั่วไป
หากมีบุคคลทั่วไปขอข้อมูลหรือคำแนะนำด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัท การวินิจฉัยโรค ทางเลือกในการรักษาโรค หรือปัญหาทางการแพทย์ของตนเอง ผู้แทนบริษัทต้องปฏิเสธการตอบคำถามและแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ของตนเอง
13.2 ข่าวแจกสื่อมวลชน
13.2.1 การทำข่าวแจกสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ไม่อาจทำได้ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนได้โดยข้อมูลที่ให้ต้องมีความทันสมัย ถูกต้องและเป็นกลาง ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับยาจะต้องไม่มีลักษณะจูงใจให้ประชาชนไปร้องขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสั่งใช้เภสัชภัณฑ์ใดเภสัชภัณฑ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ
13.2.2 บริษัทอาจเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเภสัชภัณฑ์ผ่านสื่อมวลชนได้เฉพาะข้อมูลที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเสนอความสำเร็จทางวิชาการการแพทย์ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่เป็นกลางเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความคาดหวังในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
13.2.3 ข้อมูลเกี่ยวกับเภสัชภัณฑ์จะเปิดเผยสู่สาธารณชนได้ต่อเมื่อได้แจ้งต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วหากพระราชบัญญัติยาฉบับปัจจุบันกำหนดเช่นนั้น
13.2.4 การโฆษณายาที่อนุญาตให้ประชาชนซื้อหาเองได้นั้นไม่ อยู่ในขอบเขตเกณฑ์ของเกณฑ์จริยธรรมนี้แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ายาดังกล่าวนั้น ประเทศอื่นส่วนใหญ่ถือว่าเป็น “เภสัชภัณฑ์” แต่ในประเทศไทยถูกจัดเป็นยาที่ไม่อันตรายก็ควรดำเนินการโฆษณาตามแนวทางปฏิบัติเรื่องเกณฑ์ จริยธรรมเรื่องการโฆษณา “เภสัชภัณฑ์” ด้วยเช่นกัน
13.2.5 ห้ามเผยแพร่หรือโฆษณายาอันตราย โดยมีเจตนาแอบแฝงผ่านทางพิธีกร ในรายการวิทยุหรือโทรทัศน์
13.3 บทความเผยแพร่ทั่วไป (บทความเชิงโฆษณา) บริษัทต้องไม่จัดทำบทความเผยแพร่เกี่ยวข้องกับยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่สามารถจัดทาบทความเกี่ยวกับภาวะทางการแพทย์ได้ บริษัทต้องไม่สนับสนุนให้มีการตีพิมพ์บทความเผยแพร่ทั่วไปหรือตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของตน แต่อาจเสนอที่จะจัดให้ซึ่งข้อมูลทางวิชาการหรือตรวจทานบทความเพื่อความถูกต้องของข้อมูล
13.4 การส่งไปรษณีย์โดยตรง ห้ามจัดส่งข้อมูลส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางไปรษณีย์ถึงผู้ที่ไม่อยู่ในวงการแพทย์โดยตรง
13.6 กิจกรรมหรือสื่อวัสดุที่จัดให้กับสาธารณชนต้องไม่มีลักษณะที่ทำความเสื่อมเสียหรือลดความน่าเชื่อถือต่ออุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ หากมีการทำกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเกณฑ์จริยธรรมในขั้นรุนแรง
14.) ขั้นตอนการปฏิบัติตามเกณฑ์และความรับผิดชอบของบริษัท
14.1 ขั้นตอนการปฏิบัติตามเกณฑ์
- บริษัทมีหน้าที่ต้องดูแลให้มีขั้นตอนการปฏิบัติภายในบริษัทของตน เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์จริยธรรมนี้อย่างครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของเกณฑ์นี้ ขั้นตอนเหล่านี้ควรจัดทำเป็นเอกสารให้พนักงานหรือลงไว้ใน website บริษัท
- บริษัทต้องปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. มาตรา 176 อย่างเคร่งครัด เช่น งดจ่ายเงินสวัสดิการ หรือ ไม่บริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐโดยผูกพันกับยอดขายที่สัญญาจะซื้อจะขายกัน
14.2 การอบรม
- บริษัทต้องแน่ใจว่าพนักงานที่เกี่ยวข้องได้รับการอบรมที่เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ
15.) ผู้แทนบริษัท
15.1 ผู้แทนบริษัทต้องได้รับการฝึกอบรมเพียงพอ และมีความรู้ด้านการแพทย์และวิชาการเพียงพอที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้อย่างแม่นยำ ทันสมัย และไม่เอนเอียง พร้อมตระหนักต่อการต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของหลักเกณฑ์นี้
15.2 ผู้แทนบริษัทต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพเสมอ
15.3 การนำเสนอยาด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารสิ่งพิมพ์ต้องเที่ยงตรง เป็นธรรมไม่เอนเอียง และกระทำด้วยกระบวนการนำเสนอที่เหมาะสม ไม่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้วยการอ้างสรรพคุณนอกเหนือจากที่แจ้งไว้บนเอกสารกำกับยา
15.4 ผู้แทนบริษัทต้องหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบที่ไม่เป็นธรรม หรือชี้นำให้เข้าใจผิด หรือเปรียบเทียบบ่งบอกข้อดีทางสรรพคุณที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง
15.5 ผู้แทนบริษัทต้องไม่จ้างวาน หรือใช้กลอุบายให้เกิดโอกาสเสนอยา และห้ามการใช้จ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนเพื่อจุดมุ่งหมายนี้
15.6 ผู้แทนบริษัท ต้องมีความระมัดระวังในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ในความครอบครองให้ปลอดภัย และเก็บรักษาในสภาพดีและถูกต้องตามคำแนะนำในการจัดเก็บเสมอ
15.7 บริษัทจะต้องจัดทำรายละเอียดข้อมูลวิชาการโดยสังเขปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้แทนบริษัท
15.8 ผู้แทนบริษัทต้องแต่งกายเรียบร้อยและเป็นทางการด้วยชุดทำงาน หรือเครื่องแบบบริษัทขณะปฏิบัติหน้าที่
15.9 ผู้แทนบริษัทควรระมัดระวังเรื่องระยะเวลาและความถี่ที่ใช้ในการเข้าพบแพทย์ตลอดจนลักษณะการติดต่อจะต้องไม่สร้างความลำบากใจให้กับแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล นอกจากนี้ ผู้แทนบริษัทควรเข้าพบบุคลากรทางการแพทย์ในสถานที่ที่โรงพยาบาลระบุไว้ และหากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าพบบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ระหว่างเวลาปฏิบัติหน้าที่ หรือขณะที่บุคลากรทางการแพทย์พบหรือตรวจผู้ป่วยอยู่